รมว.ศธ.กล่าวว่า ครูถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำแนวทางการพัฒนาครูบรรจุไว้ตามนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง คือ"นโยบาย ๓ ดี ๔ ใหม่" (๓ดี คือ Democracy-Decency-Drug-free และ ๔ใหม่ คือ การสร้างคนไทยยุคใหม่-ครูยุคใหม่-แหล่งเรียนรู้และสถานศึกษายุคใหม่-ระบบบริหารจัดการแบบใหม่) นอกจากนี้ยังมีนโยบายต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมทั้งในส่วนของการเพิ่มศักยภาพครู การให้คนเก่งเข้ามาเป็นครูมากขึ้น การเพิ่มขวัญกำลังใจให้ครู โดยขอยกตัวอย่างในบางโครงการที่ดำเนินการไปแล้วเพื่อให้เห็นภาพ ดังนี้การอบรมพัฒนาครูขนานใหญ่ทั้งระบบ เดิมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดอบรมพัฒนาครูเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ คนเท่านั้น ในขณะที่ครู สพฐ.มีจำนวนมากถึง ๔๕๐,๐๐๐ คน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความก้าวหน้าของโลกล้ำหน้าครูไปมากกว่านี้ จึงมีโครงการที่จะพัฒนาครูและผู้บริหารทุกคนในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาจะเริ่มอบรมให้เสร็จในปีเดียว เพราะหากผู้บริหารสถานศึกษาไม่ได้เรื่องหรือไม่เข้าใจการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาตนเองแล้ว จะกลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสถานศึกษานั้นๆ เพราะครูก็จะทำอะไรไม่ได้ สำหรับครูในบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะให้ทางศูนย์เรคแซม มาเลเซีย มาช่วยอบรมพัฒนาโดยนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยการอบรมในช่วงปิดเทอมนี้ ส่วนขั้นตอนการอบรมครูนั้นจะเน้นเป็นรายคน เพื่อเป็นการให้ยาถูกขนาน มีการทดสอบทั้งก่อนและหลังการอบรม มีการให้เกรดในการประเมินผล อบรมเสร็จแล้วจะมีสื่อการสอนสมัยใหม่ติดตัวไปด้วย โดยไม่ให้กลับไปมือเปล่า พร้อมมีระบบกำกับติดตามผลการอบรมด้วย โดย ศธ.จัดเตรียมงบประมาณไว้แล้ว ๘,๐๐๐ ล้านในการพัฒนาครูขนานใหญ่ทั้งระบบทุกสังกัดในปีนี้ครูพันธุ์ใหม่ เดิมได้กำหนดเกรดเฉลี่ยผู้ที่จะเข้าเป็นครูพันธุ์ใหม่ไว้ที่ ๒.๗๕ แต่ตนเห็นว่าอยากได้เกรดเฉลี่ย ๓.๐ ขึ้นไป ซึ่งคงจะต้องนำไปหารือกันอีกภายหลัง อย่างไรก็ตามโครงการครูพันธุ์ใหม่นี้ได้รับความสนใจสอบถามจากเด็กๆ ผ่านรายการ Tutor Channel กันอย่างมากมายโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด โดย ครม.ได้อนุมัติให้ข้าราชการที่เหลือ สพฐ.อีก ๑,๓๑๒ ราย ได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยใช้งบประมาณของ สพฐ.ปี ๒๕๕๓ เจียดจ่ายช่วยเหลือไปก่อนประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท และมีเงื่อนไขว่าเงินขวัญถุงจำนวน ๘-๑๕ เท่าของเงินเดือน ขอให้จ่ายเพียง ๙ เท่าก่อนในปี ๒๕๕๓ ส่วนที่เหลือจะจ่ายในปีงบประมาณ ๒๕๕๔กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (TQF) เพื่อคุมคุณภาพการผลิตครูของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผลิตครู ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ในต้นปี ๒๕๕๓การผลิตครูเชิงปริมาณ ได้ให้ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดูปริมาณครูและความต้องการครูในอนาคต ๑๐ ปีข้างหน้าว่าต้องผลิตครูจำนวนเท่าใด และควรผลิตสาขาใดบ้าง เพื่อให้สถาบันการอุดมศึกษาที่ผลิตครูทั้ง ๗๑ แห่งรับไปผลิตไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้อีกส่วนที่กำลังประสบวิกฤตขาดแคลนอย่างมากคือ การผลิตครูของครู หรือผลิตผู้จบปริญญาโทและเอกไปสอนในคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์การประเมินวิทยฐานะครู ได้เริ่มใช้เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครูใหม่ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เพื่อใช้สำหรับวัดคุณภาพ ความสามารถ และผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ ประเมินครูให้เป็นคนเก่ง ดี มีผลงาน โดยค่าของการประเมิน ๖๐% จะวัดไปที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ส่วนอีก ๔๐% ดูที่การวิจัยในห้องเรียนซึ่งโยงไปถึงผลสัมฤทธิ์ในห้องเรียนของนักเรียนด้วยโครงสร้างเงินเดือนครู กำลังดำเนินการปรับระบบเพดานเงินเดือนครูจากปัจจุบันให้เท่ากับระบบเพดานเงินเดือนของ ก.พ. และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีผลให้เพดานเงินเดือนขั้นสูงขั้นต่ำของครูเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ๘%การแยกประถม-มัธยมฯ เพื่อเน้นไปที่คุณภาพของการศึกษาเป็นหลัก ขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย ศธ.ได้เตรียมงบประมาณในการยกระดับคุณภาพของมัธยมฯ ๙,๐๐๐ ล้านบาท เพราะต้องยอมรับความจริงว่าปรัชญาการสอนของครูมัธยม-ประถมฯ ต่างกัน หากจะให้ครูมัธยมฯ ไปสอนเด็ก ป.๑ ก็เป็นคนละเรื่องกันเลย ไปไม่รอด นโยบายนี้ถือเป็นการแยกเพื่อคุณภาพ เป็นการใช้คนให้เหมาะกับงานอนาคตที่คิดจะทำต่อไป อย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ การพัฒนาสถาบันการผลิตและพัฒนาครูฯ จ.นครปฐม ให้เป็นเสมือนสถาบันที่ผลิตนายอำเภอ สถาบันพระปกเกล้า โดยจะให้เป็นศูนย์กลางในอบรมผู้บริหารก่อนเข้าสู่ตำแหน่งหลังจากผ่านการสอบคัดเลือกแล้ว เพื่อเป็นการพัฒนาภาวะผู้นำและศักยภาพในการบริหาร ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ การตั้งสถาบันคุรุศึกษา ซึ่งคงจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนเห็นด้วยจำนวนน้อยมาก จึงได้พิจารณาดำเนินการไปในรูปแบบคณะกรรมการคุรุศึกษาแทน